ตลาดเงินตลาดทุนลุ้น “โอไมครอน” กระทบเบากว่า “เดลต้า”

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

 

ตลาดเงินตลาดทุนจับตา “โอไมครอน” เบื้องต้นมองกระทบไม่แรงเท่าเดลต้า “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คงจีดีพีปีนี้โต 1% ส่วนปี’65 คาดโตได้ 3.7% แต่หากโอไมครอนกระทบรุนแรงอาจโตเหลือ 2.8% ฟาก “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” ชี้ยังกระทบดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไม่มาก

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ประเมินว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2564 ที่น่าจะขยายตัวได้ 1%

 

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังต้องติดตามความรุนแรงจากโอไมครอน ซึ่งขณะนี้ผู้ได้รับเชื้อยังมีจำนวนน้อย จึงยังสรุปไม่ได้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด

และวัคซีนที่ฉีดไปแล้วจะมีประสิทธิผลต่อโอไมครอนมากน้อยแค่ไหน แต่โอไมครอนแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า 2-5 เท่า

“ศูนย์วิจัยกสิกรฯประเมินภาพเศรษฐกิจปีหน้า กรณีที่โอไมครอนไม่รุนแรง น่าจะขยายตัวได้ 3.7% ซึ่งรวมกับปัจจัยเสี่ยงที่ไทยจะต้องเผชิญเรื่องเงินเฟ้อ ที่คาดว่าอยู่ที่ระดับ 1.6% ในปีหน้าแล้ว

โดยเฉพาะในเรื่องราคาน้ำมัน กรณีที่โอไมครอนไม่รุนแรง และเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ ประเมินว่าทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 77 เหรียญต่อบาร์เรล

แต่หากกรณีที่โอไมครอนกระทบรุนแรง จะทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 72 เหรียญต่อบาร์เรล และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเหลือ 2.8%” นางสาวณัฐพรกล่าว

สำหรับสาเหตุที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจขยายตัวลดลงเพียงเล็กน้อยนั้น เนื่องจากมองว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่ผ่านมารุนแรงกว่า เพราะมีปัจจัยในเรื่องวัคซีน อย่างไรก็ดี อาจจะมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะเหลืออยู่ 2 ล้านคน

“กรณีที่ดีของโอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า ประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังสามารถลดอาการของโรคได้ มองว่ายังมีแนวทางคล้ายคลึงที่เดลต้าระบาด

คือไม่มีการล็อกดาวน์และไม่ปิดประเทศ ส่วนกรณีแย่ หากความรุนแรงของโอไมครอนเทียบเท่าเดลต้า ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนที่ฉีดกันทั่วโลกลดลง จะต้องมีมาตรการตอบสนองควบคุมการแพร่ระบาด

ซึ่งจะต้องมีการกักตัวรอดูอาการ และมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศอาจจะต้องมีความจำเป็นในบางพื้นที่ โดยหากโอไมครอนรุนแรงมาก ๆ เศรษฐกิจแย่ลงกว่า 2.8% รัฐอาจจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาดูแลประชาชน ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท” นางสาวณัฐพรกล่าว

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2565 สิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะเผชิญคือ เงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางบางแห่งได้มีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว

แต่ยังต้องติดตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะมีการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า โดยจะต้องรอการประชุมเฟดในเดือน ธ.ค.นี้ ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไรด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยกรณีใด ก็ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของไทยขยับขึ้นตามไปด้วย

“ส่วนค่าเงินบาท กรณีที่โอไมครอนไม่ได้รุนแรง ปัจจัยเฟดก็จะมีน้ำหนักในช่วงปลายปี โดยหากเฟดขยับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้ง ในปี 2565 ก็จะเป็นแรงกดดันของค่าเงินบาทในช่วงปลายปี 2565

โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า 33.25-34.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากช่วงต้นปี 2565 เจอผลกระทบจากโอไมครอนรุนแรง ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล และเงินบาทจะขาดปัจจัยสนับสนุน โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะที่ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ได้” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า นักลงทุนไม่ได้มีความกังวลโควิดสายพันธุ์ไอโมครอนมากนัก สะท้อนจากผลสำรวจเดือน พ.ย. 2564 แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะกระทบรุนแรงแค่ไหน

“ตอนนี้ ถ้าหากดูจากหลาย ๆ ประเทศ หรือแม้แต่สหรัฐเองก็ออกมาแจ้งว่า โอไมครอนไม่น่ากลัวอย่างที่คาดไว้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็จะทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนถัดไปสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้” นายไพบูลย์กล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/breaking-news